Ride a bike Column
จากไต้หวันถึงเยอรมนี จักรยานเติบโตในห้วงโควิด

เรื่อง    ชาจีน

 

การปรับตัวของชาวเอเชียและยุโรปที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 คือ การหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น เพราะเป็นทางเลือกในการเดินทางสัญจรที่จะลดโอกาสติดเชื้อโควิดได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ที่เป็นแหล่งรวมผู้คนหนาแน่น

ไต้หวันและเยอรมนี เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนในห้วงโควิด กับไลฟ์สไตล์การปั่นจักรยานของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น “ไต้หวัน” ในฐานะผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ และมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง ขึ้นชื่อชั้นเป็น “The Bicycle Kingdom” ขณะที่ “เยอรมนี” ก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับจักรยานอย่างมากเช่นกัน จัดเป็น “เมืองจักรยาน” อีกเมืองหนึ่งของโลก

ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในไต้หวัน (ThaiBIZ Taiwan) ระบุในรายงานเรื่อง “จักรยานและเมืองสีเขียว :อุตสาหกรรมจักรยานโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” /29 มิถุนายน 2564) ว่า การแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมจักรยานกลับขยายตัวสวนกระแส โดยมีรายงานว่า ยอดขายจักรยานทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 200% เนื่องจากประชาชนลดความเสี่ยงจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ด้วยการเลือกที่จะเดินทางโดยจักรยานมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไต้หวันในฐานะผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่และมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยาน จนได้รับการขนานนามว่า “The Bicycle Kingdom” โดยสำนักข่าว Taipei Times รายงานว่า อุตสาหกรรมจักรยานในไต้หวันมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันมา 25 ปีแล้ว แม้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่อุตสาหกรรมจักรยานกลับเติบโตขึ้นมากกว่า 32% ตลอดทั้งปี 2020 ขณะที่ยอดสั่งซื้อจักรยานทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 2-3 เท่า

มีรายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2021 อุตสาหกรรมจักรยานของไต้หวันมีอัตราเติบโตขึ้น 40-80% โดยบริษัทผลิตและส่งออกจักรยานรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันอย่าง Giant มียอดขายเพิ่มขึ้นมาก โดยมีรายได้สุทธิในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2021 อยู่ที่ 432.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าถึง 40% ขณะที่บริษัทผู้ผลิตจักรยานอันดับสองอย่าง Merida ก็ทำรายได้ไปสูงที่สุดในประวัติการณ์ของตนเช่นกัน ด้วยรายได้รวมสุทธิอยู่ที่ 170.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาถึง 43.4%

ThaiBIZ Taiwan ระบุด้วยว่า ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมจักรยานที่สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ในสภาวะวิกฤติโควิด โดยมีปัจจัยส่งเสริม สามประการ ได้แก่ ประการที่ 1 การดำเนินการตามมาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เป็นโอกาสของการเดินทางด้วยจักรยานในฐานะตัวเลือกแทนการโดยสารขนส่งสาธารณะ  ประการที่ 2 แนวโน้มในการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งการปั่นจักรยานสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวได้ และประการที่ 3 นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชากรในประเทศ

โดยหลายประเทศในยุโรป เช่น มิลาน บรัสเซลล์ และเบอร์ลิน ได้มีการทำทางจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยานจึงมีผู้ใช้งานจักรยานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีนโยบายสนับสนุนทางตรง โดยให้เงินสนับสนุนในการซ่อมแซมจักรยานกับผู้ใช้จักรยาน คนละ 50 ยูโร ในส่วนของเมืองแห่งจักรยานอย่างอัมสเตอร์ดัม ได้มีนโยบายอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้จักรยานมากขึ้นกว่าเดิม ในด้านพื้นที่ใช้งาน และการลดอันตรายจากรถยนต์ด้วยการจำกัดความเร็ว 

ไต้หวันหนุนจักรยานเต็มสูบ

รัฐบาลไต้หวันมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนปั่นจักรยานมากขึ้น โดยในไทเป และเมืองใหญ่หลายๆเมือง มีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลในโครงการจักรยานสาธารณะ (Sharing Bicycle) อย่าง You Bike 1.0 และ 2.0 ที่มีจุดให้บริการทั่วเมือง และสามารถใช้งานได้ง่าย โดยภาครัฐยังได้สร้างเส้นทางจักรยานที่สามารถปั่นข้ามระหว่างตัวเมืองได้ตลอดแนวทางอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันปั่นจักรยานนานาชาติรอบเกาะ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดยมีจุดเริ่มต้นจากไทเปไปจนถึงทางใต้อย่างเมืองเกาสง ซึ่งการจัดกิจกรรมประเภทนี้ ช่วยผลักดันเส้นทางจักรยานของไต้หวันไปสู่ระดับนานาชาติด้วย และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ในทางอ้อม ซึ่งนอกจากการปั่นจักรยานแล้ว ในไต้หวันโดยเฉพาะในไทเปยังมีจักรยานไฟฟ้าหรือ e-bike ที่มีชื่อว่า “Goshare” หรือ "Gogoro" เป็นจักรยานไฟฟ้าที่รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานเชิงพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

U-Bike สุดฮ็อตในไทเป

เรไร รักศิลปกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงไทเป (BOI) เปิดเผย “Ride a Bike News” ว่า การปั่นจักรยานถือเป็นไลฟ์สไตล์ของชาวไต้หวันในกรุงไทเป ซึ่งมีทั้งการปั่นในชีวิตประจำวัน และปั่นท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เส้นทางจักรยานในไทเปจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างทั่วถึงและสะดวกทั้งเชื่อมต่อรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน

ส่วนใหญ่คนไต้หวันใช้ทั้งจักรยานส่วนตัวและจักรยานสาธารณะ แต่จักรยานสาธารณะจะได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องจากบ้านของคนไต้หวันไม่เหมาะเรื่องที่จอดรถ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่อพาร์ทเมนท์ ห้องเช่า ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่จอดรถค่อนข้างจำกัด การใช้จักรยานสาธารณะถือว่าสะดวกมาก

จักรยานสาธารณะที่ให้บริการทั่วทั้งเมืองในกรุงไทเปคือ  U-Bike ปัจจุบันมี U-Bike รุ่น 2.0 (สีขาว) พัฒนาไปจากรุ่นเดิม 1.0 (สีส้ม) ซึ่งรุ่น 1.0 และ 2.0 ต่างกันที่สถานีจอด รุ่น 1.0 ใช้ไฟฟ้า ส่วนรุ่น 2.0 ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และรุ่น 2.0 ที่จอดจะจอดได้แท่นละ 1 คัน แต่รุ่น 1.0 จอดได้แท่นละ 2 คัน วิธีการล็อคต่างกันไม่มาก นอกนั้นโดยรวมมีวิธีการใช้เหมือนกันเกือบทั้งหมด จุดสำคัญคือ การที่จุดจอดรุ่น 2.0 เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตอบสนองยุค Green Energy มากขึ้น

สำหรับจุดจอดจักรยานสาธารณะ U-Bike มีมากมายตามรถไฟฟ้า หรือตามสถานที่สำคัญ ครอบคลุมและปลอดภัยสูง คนไต้หวันใช้จักรยาน U-Bike ในชีวิตประจำวันและปั่นชมเมือง เพราะทั้งประหยัดและสะดวกสบาย โดยจ่ายค่าบริการถสาธารณะได้ทั้งหมดด้วยบัตร Easy Card สามารถหาจุดจอดได้จากทั้งแผนที่ในรถไฟฟ้า หรือ app สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวไต้หวันหันมาใช้จักรยานในการเดินทางกันมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิด

ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงไทเป บอกต่อว่า โครงสร้างเมืองของไทเปมีความเหมาะสมในการใช้จักรยาน มีการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้จักรยานได้อย่างสะดวก สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบอย่างเป็นระบบ การเดินทางไปยังที่ต่างๆจึงง่ายและสะดวก ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว เพื่อลดปัญหาการจราจร สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

“โดยส่วนตัวก็จะใช้จักรยานสาธารณะ U-Bike ในการเดินทางไปทำงาน และปั่นท่องเที่ยว ออกกำลังกายเป็นประจำ วันหยุดจะปั่นจักรยานไปยังสถานที่ต่างๆ ออกไปปั่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แต่แดดที่ไทเปแรงมาก ครีมกันแดดก็เอาไม่อยู่ แต่ด้วยความชอบปั่นจักรยาน เลยไม่สนใจเรื่องแดดเท่าไหร่ พอปั่นแล้ว ก็อยากไปข้างหน้าเรื่อยๆ จักรยาน U-Bike มี 3 เกียร์ เลยสบายหน่อย ขึ้นเนิน ลงเนิน สบาย”

เยอรมนีจักรยานพุ่ง 3.2 ล้านคัน

จากรายงานข่าวเด่นประเทศเยอรมนีรายสัปดาห์ (วันที่ 8–12 มีนาคม 2564) โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต รายงานว่า 3 กลุ่มสินค้าที่เติบโตในประเทศเยอรมนีช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19โควิด นอกเหนือจากสินค้า DIY และสินค้ารถบ้านแล้ว อีกกลุ่มสินค้าที่เติบโตมากคือ สินค้ารถจักรยาน ซึ่งประเทศเยอรมนีถือว่ามีตลาดสินค้าจักรยานและจักรยานไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

ในปี2562 ชาวเยอรมันซื้อจักรยานรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.3 ล้านคัน มากกว่าปีก่อนหน้า 130,000 คัน กลุ่มสินค้าจักรยานถือว่ามีการเติบโตที่ดีอยู่แล้วก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่การล็อกดาวน์และใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น รวมถึงความต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ และเทรนด์รักษ์สุขภาพของชาวเยอรมันได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เทรนด์จักรยานเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีการจำหน่ายจักรยานในประเทศเยอรมนีไปแล้วประมาณ 3.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี2562 ซึ่งหนึ่งในสัดส่วนดังกล่าวเป็นของจักรยานไฟฟ้าทั้งสิ้น 1.1 ล้านคัน นอกจากนี้ ภาคกลุ่มสินค้าจักรยานยังคาดว่ายอดจำหน่ายจักรยานคาร์โก้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หรือประมาณ 43,600 คัน เนื่องจากกลุ่มคนมีครอบครัวใช้จักรยานประเภทดังกล่าวในการขนส่งรับลูกและการซื้อกับข้าว

ฮัมบูร์ก (Hamburg)-เมืองจักรยาน

จากงานเขียนของ Ride a Bike News เรื่อง “ปั่นสองล้อ เลาะ “ฮัมบูร์ก” เมืองที่ไม่ทิ้งจักรยาน” ซึ่งได้เดินทางไปปั่นจักรยาน ณ เมืองฮัมบูร์ก ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า ฮัมบูร์ก (Hamburg) เมืองท่าระดับโลกแห่งเยอรมนี เป็นเมืองที่ผลิตประกอบเครื่องบินของแอร์บัส เป็นเมืองที่มีท่าเรือขนาดใหญ่กระจายสินค้าจากยุโรปสู่ทั่วโลกและมีความคึกคักมากเป็นอันดับสองของ EU สินค้าส่วนใหญ่มุ่งสู่จีน ถือว่าเป็นเมืองที่ขนานนามกันว่าเป็นว่า "ประตูสู่โลก" (Gateway to the World) แต่ในความเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ถือเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานแห่งหนึ่ง

ในความเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมที่สำคัญของฮัมบูร์ก มีมนต์เสน่ห์ที่มีความหลากหลายทั้งงานหัตถกรรม งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเป็นมรดกโลก แต่อีกด้านของเมืองแห่งนี้กลับให้ความสำคัญและไม่ทิ้งจักรยาน ทั้งการเดินทางในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว ฮัมบูร์กจะมีระบบ City Bike เรียกว่า “StadtRAD Hamburg” ซึ่งภายในฮัมบูร์กมีสถานีสำหรับให้เช่าจักรยานถึง 80 สถานีด้วยกัน โดยเมื่อเช่าอีกสถานีหนึ่ง สามารถนำไปคืนอีกสถานีหนึ่งก็ได้ ถือว่าสะดวกสบายมากต่อการใช้ชีวิตของพลเมือง

จักรยานในหลายประเทศทั่วโลกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะลดโอกาสติดเชื้อโควิดแล้วยังมีแนวโน้มการใช้จักรยานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นทิศทางที่ดีต่อหลายสิ่งคือ ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อเมือง ดีต่อชุมชนเมือง ดีต่อทุกๆชีวิตในเมือง ซึ่งทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องได้รับแรงกระตุ้นส่งเสริมจากรัฐบาล ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้วย "จักรยาน"

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในไต้หวัน (ThaiBIZ Taiwan) https://thaibiztaiwan.thaiembassy.org/th/index 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต 

https://www.ditp.go.th/contents_attach/730278/730278.pdf

สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงไทเป (BOI)

 

Cr.Photo

เรไร รักศิลปกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงไทเป (BOI)

Ride a Bike News : www.rideabikenews.com  

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation