Interview
“โชคชัย  พนมขวัญ” ขยับ “แพร่” ปรับสู่ “เมืองจักรยาน”

  เรื่อง/ภาพ    ชาจีน         

 

           “แพร่” หนึ่งในเมืองแห่งล้านนาตะวันออก เป็นเมืองขนาดกะทัดรัดที่ยังมีวิถีเรียบง่าย คงวัฒนธรรมและความเป็นเมืองเก่าไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางกระแสของความทันสมัยที่กำลังรุกคืบเข้าหาเมืองทุกเมือง

            การดำรงไว้ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างของ “แพร่” โดยไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามากลืนทับมากนัก แต่กลับมองถึงการพัฒนาเมืองในระยะยาวด้วยการเริ่ม “ขยับ” และ “ปรับ” วิถีของคนเมืองแพร่สู่วิถีของ “จักรยาน” เป็นการออกแบบเมืองที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ในอนาคต  “โชคชัย  พนมขวัญ” นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ให้สัมภาษณ์ “Ride a Bike News”

            “เราเริ่มวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้จักรยานมาตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว เช่น ฟุตบาท เราก็ทำให้มีขนาดกว้างขึ้นในเส้นทางทุกจุดก่อนเข้าตัวเมือง ทำเป็นทางลาด (Slope) ให้สามารถปั่นจักรยานได้”

            ในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา เทศบาลเมืองแพร่ มีนโยบายเกี่ยวกับจักรยาน และถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการส่งเสริมการใช้จักรยานในรูปแบบต่างๆทั้งการปั่นเพื่อการท่องเที่ยวและการปั่นในชีวิตประจำวัน โดยจัดสรรงบประมาณซื้อจักรยาน 200 คัน ซึ่ง 100 คัน อยู่ในโครงการจักรยานยืมเรียนให้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ ส่วนอีก 100 คัน กระจายไปวางตามโรงแรมต่างๆแห่งละ 3-4 คัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาพักได้ยืมปั่น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

            นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรงบประมาณซื้อจักรยานอีก 100 คัน ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเขตเทศบาลฯ เป็นลักษณะของการให้ยืมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการปั่นไปพบชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งทำเช่นนี้มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว

            นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ บอกว่า รูปแบบการใช้จักรยานของเมืองแพร่ในปัจจุบัน เน้นหนักไปในเรื่องของการปั่นเพื่อออกกำลังกายเป็นส่วนใหญ่ และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการปั่นจักรยานมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม “ปั่นเปลี่ยนแป้” ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่ได้ประโยชน์หลายส่วนทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

            “ผมเคยรณรงค์ทำที่จอดจักรยานไปตั้งบริเวณศาลากลาง แต่คนก็ไม่ค่อยปั่นกัน การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่แพร่ยังมีค่อนข้างน้อย คนยังนิยมใช้รถส่วนตัวกันเป็นส่วนใหญ่ ผมยังเคยมีแผนว่าจะของบซื้อจักรยานเพิ่มอีกและเอาไปไว้ตามมุมเมืองต่างๆ โดยให้คนเอารถส่วนตัวมาจอด และเอาจักรยานที่เรามีบริการตามจุดต่างๆ ปั่นเข้ามาทำธุระหรือทำอะไรในตัวเมืองก็แล้วแต่ แต่งบก็ยังไม่มี”

            เขายอมรับว่า คนยังปั่นกันน้อยเพราะอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย ถนนในเขตเมืองเก่าค่อนข้างแคบ อากาศที่ค่อนข้างร้อน โครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกให้จักรยานก็ยังไม่มากพอ และในระดับจังหวัดทุกภาคส่วนก็ยังไม่มีการร่วมพูดคุยกันในเรื่องจักรยาน ซึ่งจริงๆแล้วควรต้องผลักดันให้เป็นนโยบายระดับจังหวัด เพี่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งในการส่งเสริมและผลักดัน

            อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองแพร่ จะผลักดันการส่งเสริมและการพัฒนาเมืองจักรยานไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบาย โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาคเอกชน เช่น หอการค้าฯและ องค์กรธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ในเร็วๆนี้ เพื่อร่วมระดมแนวคิด วางแผนรองรับการใช้จักรยานอย่างจริงจัง   

            “ในระดับจังหวัดเรายังไม่เคยคุยกันจริงจังในเรื่องนี้ ถ้าเราจะเป็นเมืองจักรยานได้ก็ต้องร่วมกันหลายๆฝ่าย คนที่มีอำนาจเหนือกว่าเทศบาลก็ต้องให้ความสำคัญด้วย จะได้เป็นการพัฒนาในภาพใหญ่ ผมจะเสนอให้ทุกวันพุธเป็นวันที่รณรงค์ใช้จักรยานปั่นมาทำงาน กำหนดวันขึ้นมานำร่องก่อน แล้วค่อยๆขยายวันเป็น 2 วัน 3 วัน ต้องลองดู ถนนในเขตเมืองเก่ายังไม่มีทางจักรยาน เราก็ปั่นกันบนทางเดินเท้าไปก่อน”

            ขณะเดียวกัน เทศบาลฯ ก็จะทำแผนของบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท ในงบประมาณปี 2559 จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้โครงการพัฒนาเมือง เพื่อนำมาจัดซื้อจักรยานจำนวน 300 คัน เพื่อนำไปไว้บริการตามจุดต่างๆทุกมุมเมืองและมีที่จอดจักรยานที่ได้มาตรฐาน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้จักรยานได้มากขึ้น และปั่นเข้าสู่เขตตัวเมือง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ลงได้มาก

            “ผมมองว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงจักรยานให้ได้ ถ้าเราไม่เริ่มต้นทำให้เขารู้ว่าเราพยายามส่งเสริมการใช้จักรยาน เขาก็จะยังใช้รถส่วนตัวกันอยู่ต่อไป แต่ถ้าเรามีจักรยานบริการ ผมเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง ก็คงต้องมาวางแผนว่าจะมีวิธีการจัดการในการให้บริการอย่างไรให้เป็นระบบ”

            นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ บอกอีกว่า เมื่อประชาชนมีโอกาสเข้าถึงจักรยานได้มากขึ้น ก็จะกลายเป็นความเคยชินและอาจพัฒนาไปสู่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ เพราะเมืองแพร่เหมาะที่จะใช้จักรยาน ด้วยความเป็นเมืองเก่า และเป็นเมืองขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันการจราจรจะหนาแน่นแออัดช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน และช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ซึ่งมีโรงเรียนในเขตเทศบาลประมาณ 7-8 แห่ง จำนวนนักเรียนรวมกัน 2-3 หมื่นคน ถ้าไม่เตรียมการวางแผนเรื่องการจราจรตั้งแต่ตอนนี้อนาคตเมืองก็จะแย่เหมือนเมืองใหญ่หลายๆเมืองที่เป็นอยู่

            “ผมฝันอยากเห็นเมืองแพร่ปลอดรถยนต์ และแพร่เป็นเมืองจักรยานได้ เราจะก้าวไปสู่จุดนั้น” 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation