Ride a bike News
TCC ผนึก กลุ่มเมืองเก่า เร่งขยับมหานครเดิน-ปั่น เดินหน้าวางระบบสัญจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์

โดย    มองเมือง

 

TCC” ผนึกพลัง “กลุ่มเมืองเก่า” เร่งเดินหน้าขยับมหานครเมืองแห่งการเดินและปั่น นำร่อง "โครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์" นำทีมลุยสำรวจภาคสนามและพิจารณาเชิงสถาปัตยกรรมชุมชนเมืองบริเวณหัวแหวนย่านชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงคลองโอ่งอ่าง เพื่อจัดทำแนวทางออกแบบจัดระบบการสัญจรให้ประสานสอดคล้องกันกับกลุ่มประชากรในย่านต่างๆ หวังเป็นโมเดลให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมเตรียมนำเสนอผลการศึกษาขั้นต้นในรูปแบบการเสวนาในงานสถาปนิก ‘58 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธาน

               ศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เปิดเผยว่า เรื่องการเดินและปั่นจักรยานนับเป็นมิติสำคัญอันหนึ่งที่จะเข้าบรรจุไว้ในหลักการส่งเสริมและพัฒนาเมืองขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในไม่ช้านี้หรือภายในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องเมืองแห่งการเดินและปั่นจักรยานจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อผ่องถ่ายสู่คนรุ่นใหม่ให้ร่วมเป็นเจ้าของและขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำ

                ฉันทฤทธิ์  วิโรจน์ศิริ แกนนำกลุ่มเมืองเก่า และหัวหน้าคณะทำงานโครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ นำทีมสำรวจภาคสนามและพิจารณาเชิงสถาปัตยกรรมชุมชนเมืองเพื่อมาจัดทำแนวทางออกแบบจัดระบบการสัญจรให้ประสานสอดคล้องกันกับกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ ผู้มาติดต่อราชการ นักศึกษา ผู้ค้า และนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้สัญจรที่ต้องต่อรถต่อเรือใช้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายหรือทางผ่านไปสู่เป้าหมายโดยรอบ

               

                 โดยได้พิจารณาเงื่อนไขกายภาพของเส้นทางการสัญจรที่ใช้รองรับปริมาณการจราจรของพาหนะชนิดต่างๆ ปริมาณและเวลาของการเดินทางสัญจร รวมทั้งขั้นตอนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาและนำเสนอข้อคิดเห็นและความต้องการ เพื่อประสานความขัดแย้งและหาจุดลงตัวเหมาะสมร่วมกัน เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางการจัดระบบการสัญจรที่ป้องกันปัญหาเก่าๆ ไม่ให้ซ้ำรอย และแก้ปัญหาเรื้อรังด้านการจราจรและการใช้ประโยชน์อาคารและที่ดินในบริเวณย่านจอแจนี้ให้ได้แบบยั่งยืนมากขึ้นผ่านการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนแบบมีส่วนร่วม

               

                “เราเริ่มจากคณะทำงานร่วมกันสำรวจ ศึกษา ทบทวนประสิทธิภาพของแนวเส้นทางการสัญจรทางเลือกด้วยจักรยานที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำและเจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศข้อบังคับจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) “ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ว่าด้วยการห้ามหยุดหรือจอดตลอดเวลา” และ 2) “กําหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสําหรับรถจักรยานสองล้อบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2557” โดยข้อบังคับท้องถิ่น 2 ฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป”

               

               กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) กล่าวว่า พื้นที่ศึกษาของโครงการฯ ได้แก่ บริเวณหัวแหวนย่านชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงคลองโอ่งอ่างและครอบคลุมฝั่งตรงข้ามคลองตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกี่ยวเนื่องกับการสัญจรในบริเวณย่านเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศึกษาดังกล่าวซ้อนทับกับโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่มีวงรอบราว 8 กิโลเมตรที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดทำไว้อย่างสวยงาม ปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้การสัญจรทางเลือกด้วยจักรยาน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนใช้การสัญจรด้วยจักรยานเพื่อการเดินทางระยะใกล้ในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะเป็นย่านที่น่าเดินน่าปั่นเนื่องจากเป็นละแวกแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถานที่ราชการ สถานศึกษา และย่านเดินเล่น-เที่ยว-ชิมอาหารอร่อย และถ่ายรูปภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมเก่าและภูมิทัศน์ริมน้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวก เพลินใจ

               

                ด้านภราเดช  พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย หนึ่งในภาคีความร่วมมือ กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการฯ ได้เริ่มลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติการแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ต่อเนื่องไปจนกระทั่งการนำเสนอผลการศึกษาขั้นต้นในเดือนพฤษภาคม และอาจต่อเนื่องไปจนถึงประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 ในขั้นสรุปผลของโครงการฯ ระยะที่ 1 และได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ อาทิ คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมการผังเมืองไทย (TATP) ส่วนในระยะยาวจะขยายความร่วมมือกับภาคีภาคส่วนอื่นๆ ให้กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำสู่การศึกษาอย่างเป็นระบบของมิติรอบด้าน และหาหนทางช่วยกันแปลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มูลนิธิโลกสีเขียว จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และสถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Thailand) เป็นต้น

                โดยในเบื้องแรก ผลการศึกษาและกิจกรรมการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของโครงการฯ น่าจะเกิดความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักขั้นต้นของประชากรในพื้นที่บางส่วนได้ระดับหนึ่ง ในการสร้างพื้นฐานความรู้เข้าใจต่อสภาพการคมนาคมสัญจรอันเกิดจากกิจกรรมหลากหลายของการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนเมือง และยังหวังที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการระดมความคิดความต้องการจากภาคประชาชน เพื่อสร้างแรงสนับสนุนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐและดำเนินการแบบมีส่วนร่วมกันมากขึ้นในระยะต่อๆ ไป

               

                 โดยกิจกรรมในระยะถัดไปเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ทางโครงการฯ จะจัดประกวดการออกแบบถนนแบบสมบูรณ์ (Complete Streetscape Designs) ที่มุ่งแสดงให้เห็นการจัดพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบันและอาจเกิดเพิ่มขึ้น แสดงเส้นทางตำแหน่งเข้าออกเชื่อมโยงระหว่างจุดต่างๆ ระบบป้ายบอกทางและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนทุกประเภท ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ไปจนถึงแนวความคิดรูปแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ที่แสดงเอกลักษณ์ของเขตย่านแห่งการเดินและปั่นและการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

               

                ฉัตรศิริ  ธรรมารมณ์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มเมืองเก่า และคณะทำงานโครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า การออกแบบประกวดนี้จะถูกนำไปใช้สื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ กรุงเทพมหานคร ตำรวจจราจร ผู้ค้า นักท่องเที่ยว และประชาชนผู้อยู่อาศัยทำกินในย่านนี้ รวมทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคลากรของวัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ฯ อันอาจจะนำไปสู่การทดลองปฏิบัติ (Mock-up Demonstration) ที่หากสามารถประสานงานขอความเห็นชอบร่วมกันได้จากทุกฝ่าย ก็อาจจัดกิจกรรม Pop-up City ขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อให้เห็นถึงตัวอย่างศักยภาพที่จะนำมาซึ่งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยในมหานครแห่งนี้ โดยผู้ชนะการประกวดและเข้าร่วมการประกวดออกแบบจะได้รับเชิญให้มานำเสนอแนวคิดของตนในเวทีสาธารณะที่จะจัดขึ้นในกิจกรรมนี้ด้วย

                สำหรับเงื่อนไขผู้มีสิทธิเข้าประกวด คือ 1.สามารถส่งผลงานได้ทั้งแบบเป็นเอกเทศหรือเป็นกลุ่ม ไม่จำกัดจำนวนบุคคลในกลุ่ม 2.เป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆในประเทศไทย หรือบุคคลทั่วไปที่ร่วมอยู่ในกลุ่มของนักศึกษา (อัตราส่วน บุคคลทั่วไป/นักศึกษา ต้องไม่เกิน 1/1.5) 3. ผู้อยู่ในคณะกรรมการตัดสินไม่มีสิทธิเข้าร่วมประกวดแบบกำหนดการประกวด) ลงทะเบียนเพื่อรับหมายเลขเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 จนถึงวันส่งผลงาน ภายในเวลา 16:00 น. วันที่ 30 เมษายน 2558 พร้อมทั้งรับระเบียบการประกวดและข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ bikeresearch2015@gmail.com ผู้เข้าร่วมประกวดควรติดตามข่าวสารและการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการนี้โดยผ่านทาง facebook “กลุ่มเมืองและย่านชุมชนเก่า” และ “กลุ่มเมืองจักรยาน” รวมทั้งสร้างประสบการณ์ปั่นเยี่ยมชมย่านสถานที่เพื่อสังเกตการณ์และเก็บรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเอง

               

                  สำราญ  มีสมจิตร กรรมการบริหารสมาคมการผังเมืองไทย (TATP) หนึ่งในภาคีความร่วมมือ กล่าวว่า  ความร่วมมือกันในครั้งนี้ คาดหวังว่าจะนำผลการศึกษาเบื้องต้นไปสื่อสารกับภาคีอื่นๆ ได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 ในงาน สถาปนิก ‘58 (ASA Forum 2015) ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งผลการศึกษาในระยะที่ 2 จะได้แนวทางของแผนแม่บทระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มานำเสนอต่อภาคีเกี่ยวข้อง ในอนาคตการปรับและประสานโหมดการเดินทางหลากทางเลือกจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านนี้ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ภายในระยะ 5 ปีแรก และปรับกายภาพเมืองให้เป็นเมืองกระชับ (compact city) ในระยะทางของการเดินและปั่นจักรยาน ส่วนภาพรวมของพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์จะทำให้เกิดระบบการสัญจรแบบเชื่อมต่อหลากรูปแบบ (multimodal transportation system) อย่างเป็นระบบได้มากขึ้น

                 “ประสบการณ์ของโครงการแบบภาคีทุกภาคส่วนและอย่างมีส่วนร่วมนี้คาดว่าจะเกิดองค์ความรู้และสามารถนำผลการศึกษาที่รอบด้านไปขยายผลเพื่อแก้ปัญหาในบริเวณอื่นของกรุงเทพมหานครและปรับใช้กับพื้นที่ในภูมิภาคส่วนอื่นของประเทศได้ตามความเหมาะสมต่อไป” สำราญ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation