Travel & Route
โรม-อิตาลี, เดินชิว เดินชม Colosseum สเตเดียมโรมัน (4) 

เรื่อง/ภาพ           อ.ธนกฤต  มีสมจิตร

                           สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

รถ BigBus (Green Line Tour: GLT) พาเราวนเป็นวงกลมรอบเขตชั้นในของกรุงโรม เพื่อเฉียดชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ 7-8 แหล่ง ไฉนเลยที่จะไม่แวะลงจากรถไปสัมผัส 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้ให้มันกระจะตา!!

จากที่เล่าไว้ในตอน 3 ที่ผมกังวลว่า แหล่งท่องเที่ยวกลางกรุงโรมที่คลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกจะเสี่ยงเป็นเป้าหมายฉลองครบรอบ 1 ปีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ Paris Attacks ไหม ก็เป็นที่หายห่วงได้ เพราะมีทหารจากหลายหน่วยกระจายกำลังกันดูแลนักท่องเที่ยวเสียถี่ยิบ ประมาณว่าทุกระยะ 100 เมตรของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จะเห็นหน่วยทหารประจำจุดพร้อมอาวุธครบมือ ทั้งปืนกล เสื้อเกราะ และยานเกราะ ผมรู้สึกถึงการเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับการคุ้มกันเต็มอัตราศึก ก็หนนี้เอง!!

เมื่อมหาสเตเดียมโบราณ “เดอะ โคลอสเซียม” (Colosseum/Flavian Amphitheater) สูงตระหง่านอยู่ตรงหน้า ผมก็พาลหูแว่วเสียงนักสู้และโห่ร้องฮาป่าของผู้ชมหลายหมื่นแน่นขนัดในมหาโคลอสเซียมแบบในหนัง กลาดิเอเตอร์ ฉบับของ Ridley Scott ที่คว้า 12 รางวัล ใน 3 เวทีโลกขึ้นมาทันใด!!

เดินไป ชิคไป ถ่ายเซลฟี่ไป ก็พลันแว่วเสียง score เพลง Honor Him ของ Hans Zimmer ที่ทำให้ย้อนภาพการตายของยอดขุนพล “แมกซิมุส” ผู้หาญกล้า และเปี่ยมศักดิ์ศรีนักรบโรมันอย่างทรงเกียรติยิ่ง วนในหูอยู่อย่างนั้น ...!!

โครงสร้างวงกลมรีของโคลอสเซียม อาคารโบราณสูง 4 ชั้น แยกเป็นสองส่วน ส่วนบนประกอบด้วย ระเบียงเปิด 3 ชั้น สร้างด้วยหินปูน และชั้นที่ 4 สร้างเป็นห้องพร้อมด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เว้นระยะสองห้องทึบต่อหนึ่งช่องหน้าต่าง อาคารสูง 48 เมตร มีความยาวอาคารจากด้านตะวันออกถึงตะวันตก 188 เมตร และความกว้างอาคารจากด้านเหนือไปด้านใต้ 156 เมตร วัสดุสำคัญในการก่อสร้าง ประกอบด้วย เสาหลักสร้างด้วยหินปูนแกร่ง ขณะที่เสาทั่วไปสร้างด้วยหินปูนชนิดพรุนและอิฐ พื้นและกำแพงสร้างด้วยกระเบื้อง และเพดานทรงโค้งภายในอาคารสร้างด้วยซีเมนต์จากวัสดุผสม ทำให้โคลอสเซียม มีความคงทนสูง

วงการกีฬาสมัยใหม่ทุกวันนี้ ยังต้องนำแนวคิดการออกแบบโคลอสเซียมมาใช้เป็นต้นแบบหรือปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างในโลกสมัยใหม่ตามอย่างแบบฉบับโลกโบราณ ที่จะต้องเป็นสนามกีฬาที่มีอัฒจันทร์โอบล้อมดังปรากฏอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกแทบทุกแห่งเสมอมา

นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมมหึมาอายุกว่า 1,900 ปีแล้ว โคลอสเซียมยังเป็นที่น่าทึ่งของนักประวัติศาสตร์ในความสามารถของชนโรมันโบราณ ที่ 2 จักรพรรดิ์ แห่งราชวงศ์ Flavian เร่งรัดสร้างจนแล้วเสร็จในราว 10 ปี ถ้าถือว่าเป็นแค่เทคโนโลยีและ-เครื่องไม้เครื่องมือแบบบ้านๆ ในสมัยนั้นแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเป็นสิ่งปลูกสร้างสูงใหญ่ ที่จุผู้คนระดับ 5 หมื่นขึ้นไป ชาวโรมันช่างสร้างได้รวดเร็วและงดงามอลังการถึงเพียงนี้!

ในลานรอบๆ โคลอสเซียม ผมเห็นหลายคู่รักมาเดินสวีตหวานกันอยู่เต็มไปหมด ที่ดูเค้าหน้าเค้าตาแล้วก็ถือว่ามากันจากทั่วโลกเลยทีเดียว แต่ชั่วเวลาที่ยังไม่ทันหายอิจฉาตาร้อน ก็มีคู่รักหนึ่งร้องขอให้ผมถ่ายรูปให้พวกเขาตรงฉากหลังที่เป็นสนามประลองเดิมพันเลือดของนักรบกลาดิเอเตอร์แห่งโคลอสเซียม!!

เราเดินวนรอบๆ โคลอสเซียมอย่างมิรู้เบื่อ แหงนมองประวัติศาสตร์ที่ตกตะกอนตั้งตระหง่าน ผมถ่ายรูปมุมโน้นมุมนี้ และมีนายแบบนางแบบผ่านเข้ามายังกล้องแบบชัตเตอร์รัวๆ กับฉากหลังที่แสนประทับใจ

ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมระดับโลกชิ้นนี้ ว่านับพันๆ ปีที่แล้ว ใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันกลาดิเอเตอร์ ใช้เป็นลานประหาร และเป็นโรงละครกลางแจ้งถึงเรื่องราวมหากาพย์ของเหล่าทวยเทพโรมันเพื่อความบันเทิงของกษัตริย์และมหาชนยุคนั้น แม้ปัจจุบันโคลอสเซียมเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านการทิ้งร้างมายาวนาน แต่ในสมัยปัจจุบัน มันกลายเป็นสิ่งไถ่บาปของมวลมนุษยชาติ ด้วยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านโทษประหารชีวิต เมื่อค่ำคืนใดโคลอสเซียมเปล่งแสงส่องสว่างเป็นสีเหลืองเพื่อบ่งบอกว่ามีการกลับคำตัดสินหรือยกเลิกโทษประหารชีวิตให้กับชีวิตหนึ่งๆ ไม่ว่าจะที่ใดในโลก!!

หลังได้ขึ้น BigBus กลับที่พัก เราลงจากรถบัสเมื่อจบการเที่ยวชมเมืองที่หน้าโรงแรม Bernini แล้วเดินกลับที่พักซึ่งห่างไปในระยะเดินเท้าเพียง 5-6 นาที ผมกับบัดดี้อีก 2 คน แวะร้านสะดวกซื้อขนาดกะทัดรัดในซอยที่ขนานกับถนนสายหลัก พนักงานร้านมีคนเดียว หล่อนเป็นสาวบังคลาเทศ ในร้านมีของที่จำเป็นทุกอย่างแบบร้าน 7-11 บ้านเรา ผมได้น้ำดื่ม 1 แพ็ค นม 1 ลิตร และขนมปังอีกเล็กน้อย เผื่อว่าจะหิวตอนดึกหลังตื่นนอน

ก่อนหลับตาในค่ำคืนนั้น หูผมยังแว่วเพลง Now We are Free

ที่เป็นThemeหนัง Gladiator ผะแผ่วอยู่ในหู....จนหลับผล็อย...

คล้ายได้แอบทอดตัวลงในหลุมศพแห่ง “แม็กซิมุส”... วีรบุรุษแห่งโรม...

 

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation