Travel & Route
ย่ำเยือนโรม (5) ในคืนหนาวเหน็บ ณ บันไดสเปน

โดย       อ.ธนกฤต  มีสมจิตร

              สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาเมือง  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

ค่ำคืนนี้หลังมื้อเย็น เรานัดย่ำเท้าไปช็อปปิ้งกันรอบๆ ที่พัก ค่ำนี้อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา ทำให้อาการไข้หวัดใหญ่ที่ผมยังไม่หายดีตั้งแต่อยู่เมืองไทยทำท่ากำเริบขึ้นอีก แต่ก็เลือกออกไปเดินเอ็กเซอร์ไซส์แทนการนอนคุดคู้อยู่แต่ใต้ผ้าห่มหนา เรากลุ่มใหญ่แวะดูร้านรวงต่างๆ 2 ข้างทาง ล้วนแต่เป็นร้านสินค้าแบรนด์เนมขึ้นชื่อระดับโลก เช่น Cucci, Prada, Luis Vitton, Bulgari, Ferragamo, Valentino และอีกหลายยี่ห้อ ช่วงท้ายเราแยกจากกลุ่มใหญ่กันมา 3 คน เดินผ่าน Caffe Greco อันเป็นร้านกาแฟเก่าแก่ที่เหล่าเซเล็บคนดัง บุคคลมีชื่อเสียงของอิตาลีล้วนเคยมานั่งจิบกาแฟหอมกรุ่นที่ร้านนี้ทั้งสิ้น

เราเดินลัดซอยหนึ่งออกไปยังจตุรัสสเปน (Piazza di Spagna) อันเป็นลานกว้างหน้า “บันไดสเปน” (Spanish Steps/Scalinata di Spagna) แล้วถ่ายรูปกันตรงจุดลานน้ำพุเรือโบราณ (La Fontana della Barcaccia) สถาปัตยกรรมสไตล์บาโร๊กยุคต้น (สร้าง ค.ศ.1627-1629 โดย Pietro Bernini ประติมากรแนวจิตนิยมจากเมืองฟลอเรนซ์ ตามพระบัญชาของพระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 8 ผู้อภิเษกพระวิหารนักบุญเปโตรหลังใหม่ ได้ดำริให้จำลองขึ้นจากเรือที่ถูกพัดมาเกยตื้นอยู่บริเวณนี้คราวที่แม่น้ำไทเบอร์ท่วมเอ่อท้นครั้งใหญ่ (เมื่อคริสตศตวรรษที่ 16)

ลานน้ำพุเรือโบราณนี้แม้อยู่ที่ลานเบื้องล่างแต่กลับเป็นที่หนุ่มสาวมาเช็คอินและเซลฟี่กันคับคั่ง ผมยืนซึมซับบรรยากาศท้าลมหนาวอยู่หน้าลานน้ำพุเรือโบราณ และนึกถึงเพลงของ Bob Dylan นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ที่รำพันถึง “บันไดสเปน” ไว้ในเพลงของเขา “When I Paint My Masterpiece”(ค.ศ.1971) ในวลีที่ว่า “ท่ามกลางสายลมหนาวเหน็บแห่งคืนเดือนมืดบนบันไดสเปน...” (On the cold, dark night on the Spanish Stairs) แต่ผมชอบเวอร์ชันที่ Bob เล่นกับวง The Band ในปี 1972 มากกว่าต้นฉบับอัดเสียงครั้งแรก เพราะมีกลิ่นอายดนตรีฟังกี้ ที่ได้อารมณ์ชิวๆ ไปอีกแบบนะ...

บันไดสเปน 138 ขั้นนี้สร้างเชื่อมระหว่างลานสเปน (Piazza di Spagna) และลานวัด (Piazza di Trinità dei Monti) ถือเป็นบันไดที่กว้างและยาวสุดในยุโรป ออกแบบโดยสถาปนิกอิตาเลียน Francesco de Sanctis และ Alessandro Specchi (สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1723-1725) ด้วยเงินกองทุนมรดกของนักการทูตฝรั่งเศส (Étienne Gueffier) เป็นลานกลางที่ 2 ชาติ (ฝรั่งเศสและสเปน) สร้างขึ้นเพื่อสัมพันธ์ทางการฑูตกับอิตาลี และใช้เป็นทางเชื่อมร่วมกันระหว่างวัดในองค์อุปถัมภ์ของราชวงศ์ Bourbon แห่งฝรั่งเศสกับลานสเปนของสถานทูตสเปนประจำสันตะสำนัก (Holy See) ซึ่งตั้งอยู่ใน Palazzo Monaldeschi ด้านล่าง แต่พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ก็ได้เครดิตชื่อเป็น “ลานสเปน” และ “บันไดสเปน” มานับแต่นั้น

พี่ที่เดินมาด้วยกันซื้อเกาลัคจากกระทะใหญ่ที่คั่วขายสดๆ ตรงสามแยกหน้าลานสเปน หน้าตาแผงขายเกาลัคคั่วเป็นเยี่ยงไร ก็ถ้าใครเคยไปเดินย่านเยาวราชในบางกอกก็ประมาณนั้นแหละ แต่ต่างกันตรงที่เกาลัคคั่วของอิตาเลียนไม่ใช้กรวดทรายคั่ว แต่ใช้กระทะใบบัวคั่วเกาลัคเปล่าๆ ...เอาน่า..ก็ร้อนระอุและอร่อยเหมือนกันแฮะ!! คนคั่วยื่นมาในกรวยกระดาษ ประมาณว่ามี 10 กว่าลูกขนาดกลางๆ ราคากรวยละ 5 ยูโร (ราว 200 บาทเศษ) เรายืนกินเกาลักกันคนละ 2-3 ลูกพร้อมกับเฝ้ามองผู้คนที่คลาคล่ำในลานบันไดสเปนยามค่ำคืน และผลัดกันถ่ายรูปให้กันบ้าง เซลฟี่เองบ้างแบบเรื่อยเปื่อย

ที่ขอบลานจะเห็นมีอาคารอันเคยเป็นรังนอนของกวีอังกฤษนามอุโฆษ John Keats (ค.ศ.1795-1821) ซึ่งช่วงหนึ่งเขาใช้อยู่อาศัยมาตราบจนลมหายใจสุดท้ายที่ตึกหลังนี้ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ Keats-Shelley Memorial House เพื่อรำลึกถึงคีตส์และเพอร์ซี บิช เชลลี และยังเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมผลงานสำคัญ รวมทั้งต้นฉบับและงานเขียนของกวีในยุคโรแมนติกอีกหลายท่าน

จัตุรัสบันไดสเปนแห่งนี้เป็นสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาแต่ครั้งยุฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance Age คริสต์ศตวรรษที่ 14-15) อันเป็นยุคที่ฟุ่มเฟือย-หรูหรา-กามารมณ์ที่สุด เพราะเป็นยุคที่เน้นอัตตา (ปัจเจกนิยม) ถือว่ามนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อพระเป็นเจ้าเท่านั้น ลานนี้เป็นแหล่งรวมศิลปิน นักเขียน กวี และนักดนตรีมาแล้วมากมายรุ่นต่อรุ่น อีกทั้งเรียงรายด้วยโรงแรมที่พักหรูมาต่อเนื่องยาวนาน 300-400 ปี!!

แม้เทศบาลนครโรมออกกฎห้ามกินอาหารบริเวณบันไดแห่งนี้ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงชอบที่จะนั่งพูดคุย กิน ดื่มอย่างชิค-ชิลล์อยู่เสมอ หลายครั้งลานแห่งนี้มีดนตรีสดเพราะๆ การแสดงเปิดหมวกของเหล่าศิลปินจำเป็น ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่นี่ให้คึกครื้นและคลาคล่ำด้วยผู้คน แต่ผมชอบบรรยากาศค่ำคืนที่ผมมาเยือนมากกว่า เพราะไม่มีคนคลาคล่ำมากนัก ปลอดเสียงอึกทึกของดนตรี แต่ถัดจากลานไปราว 60-70 เมตร มีสตรีอิตาเลียนนางหนึ่ง นั่งพรมนิ้วลงบนเชลโล (Violoncello) คู่กายอยู่กลางลานเพียงคนเดียวอย่างแผ่วหวานปนเศร้าสร้อย เธอเปิด backing track จากเครื่องเสียงคลอไปด้วยแผ่วๆ เหมือนมี Symphony ทั้งวงแบ็กอัพให้หล่อนทำ Solo concerto performance

ผมยืนฟังเชลโลทอดเสียงครวญเศร้าของหล่อนเพียงคนเดียวตรงลานนี้ท่ามกลางลมหนาวที่เสียดลึกมากขึ้นทุกที (แม้เป็นช่วงเวลาแค่ 1-2 ทุ่ม)!!

เสียงเพลง Speak Softly Love (1972) แต่งทำนองโดย Nino Rota ที่เป็น Theme song ของหนัง The Godfather จากเชลโลเครื่องดนตรีสายพันธุ์กำเนิดมาแต่ยุคบาโรก (Baroque Age คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ในมือหล่อน สะกดวิญญาณผมให้อ้อยอิ่งอยู่ตรงนั้น จนลืมบัดดี้ที่เดินแยกห่างจากกันไปเรื่อย... และพลัดหลงกันในที่สุด...

ผมกระชับเสื้อโค้ตเข้าที่ ย่ำเท้ากลับที่พักคนเดียว...

และเดินฮัมเพลง...Speak Softly Love...ไปเรื่อยอย่างเพลินใจ...

ดึกสงัดคืนนั้น ผมเอ่ยคำล่ำลากรุงโรม-นครที่ไม่มีวันตาย

โรมในคืนหนาวเหน็บ...ผมคาดหวังจะกลับมาเยือนอีกสัก 2-3 ครั้งในชีวิต...

banner ด้านขวา 1
banner ด้านขวา 2
Peenfa Creation